อาการตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด (Newborn Jaundice)
ตอนที่ 2 อาการตัวเหลืองจากการได้รับนมแม่ไม่เพียงพอ
อาการของน้องฆฤตคือตัวเหลืองจากการสะสมของสารบิลิรูบินในร่างกายและสาเหตุมาจากการได้รับนมแม่ไม่เพียงพอหรือเรียกว่า “Starvation Jaundice”
- อะไรคือ สารบิลิรูบิน (Bilirubin)?
สารบิลิรูบินนี้คือเม็ดสีเหลืองที่เกิดจากการแตกตัวของเม็ดเลือดแดงที่หมดอายุ โดยทั่วไปสารบิลิรูบินจะถูกเผาผลาญโดยเอนไซม์ (Enzyme) ของตับ กำจัดออกทางลำไส้ และขับออกมาทางอุจจาระ/ปัสสาวะ
ในเด็กแรกเกิดปกติจะมีการสร้างสารบิลิรูบินมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากเม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นกว่าผู้ใหญ่ ทำให้มีการแตกตัวจำนวนมากกว่า อีกทั้งตับของเด็กยังทำงานไม่สมบูรณ์ ทำให้พบภาวะตัวเหลืองได้บ่อยในเด็กแรกเกิด ซึ่งเป็นอาการปกติและจะเริ่มดีขึ้นประมาณ 7-14 วันในเด็กที่ได้รับนมแม่
- ทำไมถึงเกี่ยวกับนมแม่?
สารบิลิรูบินถูกขับออกจากทางร่างกายผ่านทางอุจจาระ/ ปัสสาวะ โดยหากน้องได้รับนมแม่ไม่เพียงพอ ก็จะขับถ่ายน้อยและได้รับสารอาหารที่ไม่พอเพียง กระทบต่อกระบวนการขับสารบิลิรูบินออกมาจากร่างกายให้ผิดปกติ จึงเกิดการสะสมจนตัวเหลือง
- แล้วถ้าน้องตัวเหลืองมีปัญหาอย่างไร??
ภาวะที่ระดับของบิลิรูบินในกระเเสเลือดมากไป ก็จะทำให้สารนี้เข้าไปสะสมที่เนื้อเยื่อสมองของลูก ทำลายเซลล์ประสาท หากเกิดเฉียบพลัน น้องจะซึม ดูดนมน้อย หรืออาจเกิดอาการเกร็งหลังแอ่นในระยะแรก กระทบกับสติปัญญา ตลอดจนอาจจะมีผลกระทบต่อการได้ยินของเด็กหรือการมองเห็นในระยะหลังได้
- รักษาอย่างไร?
1.กรณีของลูกเกด ต้องนอนค้าง 1 คืน ถูกส่องไฟ จากหลอดฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescent Lamp) ชนิดพิเศษ (Special blue light) น้องต้องถูกถอดเสื้อผ้าและนอนปิดตา สารบิลิรูบินจะถูกเปลี่ยนเป็นชนิดที่ละลายน้ำได้ และถูกขับออกจากร่างกาย ผ่านทางอุจจาระ หรือปัสสาวะ
- การถ่ายเลือดร่วมกับการส่องไฟรักษา ถ้าหากระดับของบิลิรูบินในเลือดสูงมากจนอาจจะเกิดการสะสมในเนื้อเยื่อสมอง หรือแสดงอาการเฉียบพลันทางสมอง ต้องใช้วิธีการถ่ายเลือดร่วมกับวิธีการส่องไฟรักษาเพื่อลดระดับของบิลิรูบินในร่างกายของน้องได้อย่างทันท่วงที
- การรักษาด้วยยา ยาที่สามารถรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดได้คือยาชีววัตถุ เช่น อิมมูโนโกลบูลินชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
- คุณพ่อคุณแม่ควรต้องระวังอย่างไร?
1.ทำความเข้าใจว่าอาการตัวเหลืองในเด็กแรกคลอดเป็นเรื่องธรรมชาติ 60% ของเด็กแรกเกิดพบอาการตัวเหลืองในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด แต่อาการนี้จะค่อยๆดีขึ้นและค่าบิลิรูบินจะลดลงจนปกติ มาพบคุณหมอตามนัดเพื่อติดตามอาการ
- 2. ให้นมแม่ทุกๆ 2-3 ชั่วโมงหรือตามความต้องการของลูกได้เลยค่ะ แต่ไม่ควรน้อยกว่า 8 ครั้งต่อวัน!
หากมีปัญหาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือการเข้าเต้าจนทำให้น้องได้รับนมไม่เพียงพอ เช่น เข้าเต้าผิดท่า พังผืดที่ลิ้น ลักษณะปัญหาของหัวนมแม่และอื่นๆ ควรหาสาเหตุ รับการปรึกษาและวิธีแก้จากผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่
- 3. สังเกตสีของอุจจาระหรือปัสสาวะของลูก หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น อุจจาระมีสีซีด หรือ ปัสสาวะมีน้ำตาลเข้มควรมาพบแพทย์อย่างทันท่วงที
- 4. สังเกตอาการเบื้องต้น สีผิวบนฝ่ามือฝ่าเท้า ตา ของลูก หากพบว่ามีความผิดปกติให้มาพบแพทย์ทันที
- 5. อาการหรือความผิดปกติอื่น ๆ เช่น มีไข้ ซึม ไม่ดูดนม หรือท้องอืด *อย่าเข้าใจว่าถ้าน้องนอนนานนั้นเป็นสิ่งที่ดีนะคะ คิดว่าน้องเลี้ยงง่าย อาการปกติคือน้องต้องตื่นขึ้นมาดื่มนมทุก 1.5-2 ชั่วโมงในระยะแรกค่ะ*
“ในกรณีที่คุณแม่ประสบปัญหาสุขภาพกระทบกับปริมาณน้ำนม ทำให้นมมาช้าหรือมาน้อย แนะนำให้รีบปรึกษาคุณหมอเพื่อขอยาเพิ่มน้ำนม (เช่น motilium) และทานอาหารกระตุ้นการผลิตน้ำนมร่วมด้วยค่ะ ถ้าคุณหมอแนะนำว่าจำเป็นต้องเสริมนมผงให้น้อง ก็ต้องเสริมนะคะ เราเอาความปลอดภัยของลูกเป็นหลักค่ะ “
เป็นแม่มือใหม่มีเรื่องต้องศึกษา เรียนรู้และทำความเข้าใจ อย่ารีบเร่ง กดดันตัวเองจนเกิดควร แต่ต้องใช้สติ ความสังเกต ความรักและสัญชาตญาณความเป็นแม่อย่างมาก แม่เกดเป็นกำลังใจให้ค่ะ
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |