อาการตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด (Newborn Jaundice)

ตอนที่ 1 ประสบการณ์ตรงจากคุณแม่เกด

กว่าจะเป็นแม่เกดในวันนี้ผ่านประสบการณ์อะไรมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น หัวนมแตก ท่อนมอุดตัน white dot เต้านมอักเสบ มีสิวที่ลานนม นมมาเยอะ นมหด และอื่นๆอีกมากมาย (ไว้เกดจะมาทยอยเล่าให้ฟังนะคะ)

เรื่องในวันนี้ที่อยากจะพูดถึงก็คือ อาการตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด (Newborn Jaundice) เป็นประสบการณ์ตรงที่เกิดกับลูกชายคนโต (น้องฆฤต) ค่ะ ในวันนั้น (4 ปีที่แล้ว) ที่ยังไม่เข้าใจถึงการให้นมแม่และร่างกายของเด็กทารกที่ถูกต้อง

น้องฆฤตเป็นเด็กคลอดปกติค่ะ น้ำนมแม่เกดเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 2 มีอาการคัดเต้าตามธรรมชาติ แม้ว่าเกดจะผ่าคลอดก็ตาม ทางพยาบาล Nursery ได้พาน้องมาเข้าเต้าทุกๆ 3 ชั่วโมงและได้ฝึกให้เกดจับลูกเข้าเต้าให้เป็น พยายามกันตลอดช่วงที่พักฟื้นที่โรงพยาบาล แต่เกดดันประสบความเจ็บปวดจากการเข้าเต้าเป็นอย่างมาก ซักถามพี่พยาบาลก็บอกว่า น้องอาจจะงับหัวนมเราไปสีกับเพดานปากเค้า แต่ท่าเข้าเต้าถูกแล้ว ถามหลายคนมาก ก็บอกว่าท่าเข้าเต้าถูกแล้ว แต่ความเจ็บก็ยังมีอยู่ ตอนนั้นนี่รู้สึกว่าอาการเจ็บจากแผลผ่าตัดนี่ชิวมากเลยเมื่อเทียบกับตอนให้นมลูก

แต่ก็ยอมทนค่ะ คิดว่านมก็มา ลูกก็เข้าเต้าถูกแล้ว ให้ทุกๆ 2-3 ชั่วโมง ตรงตามสูตรเป๊ะ ไม่น่าจะมีปัญหาเดี๋ยวอาการเราก็ดีขึ้น

แต่…..น้ำหนักน้องฆฤตกลับเริ่มลดลงเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

ในวันกลับ (วันที่ 4 หลังคลอด) คุณหมอเด็กได้ย้ำให้ทราบว่า เป็นอาการปกติที่เด็กในช่วง 7 วันหลังคลอดน้ำหนักจะลดจากแรกคลอด แต่ไม่ควรลดเกิน 7% หากต่ำกว่านี้จะเป็นข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ได้ว่าอาจมีปัญหา ดังนั้นกลับบ้านไปต้องพยายามให้นมอย่างบ่อยครั้ง

แม่เกดไม่รู้หรอกค่ะ ว่าปัญหาที่ตามมาคืออะไร แต่ก็พยายามอย่างเต็มที่ไม่ให้ขาดสักมื้อแม้ว่าจะทรมานขนาดไหนก็ตามทุกครั้งที่เข้าเต้า

วันที่ 10 หลังคลอด เข้าไปพบคุณหมอเด็กตามนัด หมอเริ่มสังเกตเห็นว่า น้องมีอาการตัวเหลืองและน้ำหนักน้องยังไม่กลับขึ้นมาตามมาตรฐาน จึงจำเป็นต้องเจาะเลือดดูค่าของ Bilirubin (บิลิรูบิน)

หลังจากรอผลประมาณเกือบชั่วโมง (ในสมัยนั้นนะคะ) ก็พบว่าน้องมีค่าบิลิรูบินค่อนข้างสูง มีความจำเป็นต้องรักษาโดยการนอนโรงพยาบาลส่องไฟ 1 คืน

เสียใจมาก เพราะรู้สึกว่าแม่ทำให้ลูกไม่สบายและไม่อยากพรากจากลูกเป็นคืนเชียว แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ด้วยความเป็นแม่มือใหม่  กลับบ้านไปก็คอยปั๊มนมทุกๆ 2-3 ชั่วโมงตามที่พี่ๆนางพยาบาลบอกและนอนร้องไห้ไป

วันรุ่งขึ้นก็ไปรับลูก ผิวบางๆของน้อง ออกแดงๆเกรียมๆ หยาบๆ  ลูกเอ๋ย สีผสมจริงๆ แดงๆเหลืองๆเกรียมๆ ตัวร้อนๆ (เป็นปกติจากการโดนส่องไฟนะคะ) กว่าจะหายเกรียมสากๆก็ใช้เวลาร่วมเดือน ส่วนผิวและตาเหลืองอยู่กับน้องหลายเดือนค่ะ

หมอตรวจดูผลอีกที ก็พบว่าระดับสารสีเหลืองของน้องนั้นลดลงแล้ว แต่ยังคงต้องติดตามผลต่อไปอย่างใกล้ชิด

อ้อ…คุณหมอแนะนำให้พาน้องฆฤตออกไปผึ่งแดดในช่วงเช้าๆก่อนเที่ยง ให้ใส่แต่ผ้าอ้อมและแก้ผ้าให้หมดค่ะ

แม่เกดเลยได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังและอยากมาแชร์ให้แม่ๆได้ทราบเพื่อไม่ให้เกิดกรณีเดียวกันและคอยระวังดูแลค่ะ