9 เทคนิคการเอาน้องเข้าเต้า
แม่ๆคะ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ประสบความสำเร็จ สิ่งสำคัญอย่างแรกคือ “การเข้าเต้าให้ถูกต้อง” ซึ่งถ้าเราสามารถเอาลูกเข้าเต้าได้อย่างเร็วหลังคลอดและถูกวิธีก็จะให้ลดการเกิดปัญหาต่างๆไม่ว่าจะเป็น อาการตัวเหลืองในเด็กทารก น้ำหนักไม่ขึ้นตามเกณฑ์ หรืออาการเต้านมคัด ท่อนมอุดตันและเต้านมอักเสบของทางคุณแม่ค่ะ ดังนั้นวันนี้แม่เกดขอนำเสนอเทคนิคการเข้าเต้าที่ถูกต้องค่ะ
- ก่อนอื่นเลยอยากให้แม่ๆเตรียมหาที่นั่งสบายๆ หาหมอนมารองหลังหรือหาหมอนให้นมมาเสริม เอาให้สบายที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดคอและบ่าค่ะ (หากนั่งบนโซฟาหรือเก้าอี้ แนะนำให้หาเก้าอี้ตัวเล็กๆมารองขานะคะ จะนั่งสบายยิ่งขึ้น)
- จัดหาน้ำเปล่าหรือน้ำขิง น้ำหัวปลี มาวางไว้ใกล้ๆ เผื่อในกรณีหิวน้ำจะได้หยิบมาดื่มทานให้ตัวเองสดชื่น คุณแม่สามารถดื่มน้ำเย็น น้ำปั่น หรือน้ำแข็งได้ปกตินะคะ (หากถนัดให้เข้าเต้าแล้ว อย่าลืมพกหนังสือหรือวางมือถือไว้ข้างตัว จะได้อ่านเพลินๆ ลงรูปน่ารักๆของน้องระหว่างการเข้าเต้าค่ะ)
- คอยดูอาการของน้องที่บอกถึงว่าต้องการจะเข้าเต้าดื่มนม เช่น หันหน้าซุกกับอก ปากขยับ เริ่มขยับตัวมากขึ้น เหยียดตัว เอามือเข้าปากจนถึงร้องไห้ค่ะ)
จากนั้นก็เริ่มทำการเลย….
- อุ้มลูกน้อยไว้กับอก นั่งประจำที่ โอบลูกเข้าหาตัว (ตามท่าต่างๆที่คุณแม่ถนัดในการให้นม) ให้หน้าท้องของน้องพาดสัมผัสกับหน้าท้องของคุณแม่ อย่าก้มเอาเต้าเข้าปาก (ประมาณว่าอย่าเสิร์ฟเต้าให้ลูก แต่เอาตัวลูกมาประชิดอก) เพราะจะทำให้เมื่อยหลังและเป็นการนั่งผิดท่าเข้าเต้า
- จมูกของลูกควรอยู่ตรงข้ามหัวนมแม่
- ใช้มือประคองเต้าด้านข้างด้วยท่า “C” หรือ “U” เหมือนท่าบีบเบอร์เกอร์เข้าปาก เพื่อให้ลูกสามารถอ้าปากอมลานนมได้ง่ายขึ้น
- เอาหัวนมเขี่ยที่ริมฝีปากลูก ให้มั่นใจก่อนว่าลูกอ้าปากกว้างจนเหมือนหาว จึงค่อยเอามือประคองที่ท้ายทอยของลูกและนำเข้าเต้า
- ตรวจดูว่าปากน้องอมลานนมเกือบทั้งหมด เด็กบางคนสามารถอมหมดจนไม่เห็นลานนมได้
- ค้างมือไว้ที่หลังท้ายทอยของน้องสักพัก ให้มั่นใจว่าน้องสามารถเข้าเต้าได้แล้วจริงๆ หากปล่อยมือก่อน อาจทำให้น้องคลายหลุดจากเต้าได้ (ประมาณว่าถ้าน้องดูดจนแม่รู้สึกจี๊ดในเต้าแล้วก็คลายมือได้ค่ะ คุณแม่จะได้ไม่ต้องเกร็งมือมากจนเจ็บข้อมือ)
เกดอยากให้คุณแม่สังเกตเพิ่มเติมตามนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าน้องสามารถเข้าเต้าได้จริงๆคือ
- น้องมีแก้มอ้วนกลมขณะดูดนม ไม่ทำปากจู๋ (ตามรูป)
- คางน้องแตะอกแม่อยู่เสมอ
- ขณะดูดจะเห็นการเคลื่อนไหวของกราม ไม่ใช่เห็นเพียงแค่คางเคลื่อนไหว
- ได้ยินเสียงกลืนน้ำนม ไม่มีเสียงคลิ๊กๆ แกล๊กๆ
- หลังจากน้องเข้าเต้าเรียบร้อยและคายหัวนมออก รูปลักษณะหัวนมจะไม่ลีบหรือแบน
ที่สำคัญที่สุดนะคะ หากน้องได้นมเต็มที่ จะมีอาการผ่อนคลาย มือกางออกแบบสบายๆ และค่อยๆคลายเต้าออกมาอย่างฟินหรือส่วนใหญ่จะผลอยหลับบนอกแม่
ถ้าแม่ๆพบเห็นอาการแบบนี้ ก็ฟินได้เลยค่ะ น้องอิ่มนม เติบโตสมบูรณ์และเต้านมคุณแม่ก็ได้รับการกระตุ้นอย่างเต็มที่พร้อมผลิตตามความต้องการของลูก แม่ๆอย่างเราก็สามารถนั่ง นอน ให้นมลูกสวยๆได้อย่างหมดห่วงค่า
**ขอเน้นย้ำนะคะ ในการเข้าเต้าตอนแรกอาจจะรู้สึกเจ็บนิดๆจากการตอดของลูก แต่ไม่ควรเกิน 1-2 นาที หลังจากนั้นความเจ็บควรหายไป หากคุณแม่รู้สึกเจ็บตลอดการเข้าเต้าจนแบบจิกหมอน น้ำตาเล็ด แสดงว่าเข้าเต้าไม่ถูกต้อง เอานิ้วก้อยเกี่ยวปากน้องให้คลายเต้าออกและหาสาเหตุความเจ็บปวดนั้นให้ทันท่วงที**
ลองใช้เทคนิคและการสังเกตอาการต่างๆที่เกดได้เล่าไปนะคะ เพื่อความสำเร็จในการให้นมแม่ค่ะ
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
|